โรค จอประสาทตาเสื่อม เนื่องจากอายุ หรือ โรคเอเอ็มดี เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป และเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการตาบอดได้ อาการนั้นเมื่อคนปกติมองไปยังสิ่งต่างๆรอบตัว จะเห็นภาพชัดเจนไม่มีเงาดำมาบดบังส่วนใดส่วนหนึ่งของภาพ

แต่ผู้ป่วยโรคเอเอ็มดี เมื่อมองไปยังสิ่งใดๆก็ตามจะพบว่ามีเงาดำบังบริเวณกึ่งกลางของภาพเสมอ ผู้ป่วยบางคนอาจจะมีอาการ เห็นภาพบิดเบี้ยวก่อน แล้วจึงมีอาการเห็นเงาดำบดบังภาพทีหลัง ส่วนสาเหตุของโรคนี้เกิดจากจุดรับภาพชัด( Macula) ของจอประสาทตาซึ่งมีหน้าที่ช่วยในการมองเห็นบริเวณกึ่งกลางภาพเกิดความผิดปกติขึ้น

จอประสาทตาเสื่อม

ชนิดของโรคจอประสาทตาเสื่อมมี 2 ชนิด คือ

– ชนิดแห้ง เป็นชนิดที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยจอประสาทตาจะเสื่อมและบางลง มีผลทำให้การมองเห็นแย่ลงอย่างช้าๆ โดยมากไม่จำเป็นต้องรับการรักษา ซึ่งโรคเอเอ็มดีชนิดนี้สามารถพัฒนาไปเป็นชนิดเปียกได้

– ชนิดเปียก พบได้น้อยกว่าชนิดแห้งแต่เป็นชนิดที่มีอาการรุนแรงกว่าสามารถทำให้การมองเห็นแย่มากจนอยู่ในขั้นระดับเลือนรางหรือตาบอดได้ ซึ่งเอเอ็มดีชนิดเปียกนี้จะมีเส้นเลือดงอกผิดปกติที่ใต้จอประสาทตา ทำให้เลือดออกหรือเป็นแผลที่จอประสาทตา ส่งผลให้ผู้ป่วยเห็นเป็นเงาดำบริเวณกึ่งกลางของภาพที่มองเห็น

ปัจจัยเสี่ยงทีทำให้เป็นจอประสาทตาเสื่อม

– อายุ จอประสาทตาเสื่อมพบมากในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป

– คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อมมีโอกาสที่จะส่งต่อทางพันธุกรรมได้ทั้งชนิดแห้งและชนิดเปียก คนในครอบครัวของผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีโอกาสเกิดโรคได้มากกว่าคนทั่วไป

– เชื้อชาติ จอประสาทตาเสื่อมจะพบในคนเชื้อชาติคอเคเซียน (Caucasians) หรือที่เรียกว่าคนผิวขาว ได้มากกว่าเชื้อชาติอื่นๆ

– การสูบบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคได้มาก

– โรคเบาหวาน มักทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือด ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคจอประสามตาเสื่อมชนิดเปียกได้มาก

– โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคที่เกี่ยวกับความดันโลหิด และไขมันในเลือด ซึ่งปัจจัยทั้งสองอย่างเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกได้มากเช่นเดียวกัน

อาการของโรคจอประสาทตาเสื่อม

– การมองเห็นแย่ลง โดยเฉพาะส่วนกลางภาพ จะเห็นเป็นภาพเบลอหรือเห็นเป็นสีเทาดำมืดไปเลย อาจจะเกิดขึ้นกับตาข้างเดียว หรือทั้งสองข้างก็ได้

– ภาพการมองเห็นบิดเบี้ยวผิดรูป

– ต้องใช้แสงสว่างมากกว่าปกติเพื่อให้มองเห็นชัด และมองเห็นได้น้อยลงเมื่ออยู่ในที่แสงน้อย

– ต้องใช้แสงมากขึ้นเพื่อมองเห็นสี โดยปกติแล้วหากอยู่ในที่มืดดวงตาคนเราจะเห็นภาพเป็นสีขาวดำ เมื่อมีแสงสว่างประมาณหนึ่งจึงจะเห็นสี แต่ผู้ที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมจะต้องใช้แสงสว่างมากกว่าคนทั่วไปในการมองเห็นสีนั่นเอง

– แยกใบหน้าได้น้อยลง เนื่องจากภาพการมองเห็นไม่ชัดเท่าเดิม

– อ่านหนังสือยากขึ้น

การป้องกัน

– ควรสวมแว่นกันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน

– ควรรับประทานอาหารจำพวกผักใบเขียว ผลไม้สด อาหารจำพวกปลา โดยหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกไขมัน

– ควรงดสูบบุหรี่

– ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก และ ความดันโลหิต

วิธีการรักษา

การรักษาโรคเอเอ็มดีชนิดเปียกที่มีในปัจจุบัน ได้แก่ การฉายแสงเลเซอร์ การรักษาโดยโฟโต้ไดนามิก และการฉีดยา Amti- VEGF เข้าน้ำวุ้นลูกตา เป็นต้น โดยจักษุแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาและแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

ที่มา

bangpo-hospital.com

samitivejchinatown.com

ติดตามเรื่องราวดีๆได้ที่ developette.com