อาหารไม่ย่อย

อาหารไม่ย่อย ใครว่าไม่อันตราย อาหารไม่ย่อย (Dyspepsia) เป็นอาการปวดท้องบริเวณช่วงบน ร่วมกับมีอาการท้องอืด จุกเสียดแน่นท้อง จุกลิ้นปี่ รู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว โดยมักมีอาการในระหว่างหรือหลังรับประทานอาหาร ซึ่งอาการอาหารไม่ย่อยนี้ พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ อาการมักจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว แต่รู้หรือไม่ นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหรือความผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร

อาหารไม่ย่อย อาจเป็นเพราะมีพฤติกรรมเหล่านี้… อาหารไม่ย่อยเกิดจากอะไร? อาการอาหารไม่ย่อยเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่แล้วพบว่ามีปัจจัยมาจากพฤติกรรมการกิน และลักษณะการดำเนินชีวิต รวมไปถึงอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาบางชนิด ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ

อาหารไม่ย่อย

เคี้ยวอาหารไม่ละเอียดก่อนกลืน รับประทานเร็ว รับประทานเยอะ
ชอบรับประทานอาหารมันๆ อาหารรสเผ็ดจัด
ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ น้ำอัดลม มากเกินไป
น้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือเป็นโรคอ้วน
รับประทานยาบางชนิด ที่ส่งผลกระทบต่อระบบย่อยอาหาร เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาปฏิชีวนะ อาหารเสริมธาตุเหล็ก เป็นต้น
มีแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก กรดไหลย้อน
มีภาวะเครียดหนัก ภาวะวิตกกังวล
สูบบุหรี่เป็นประจำ

อาหารไม่ย่อยเป็นประจำ อาจเสี่ยงเป็น “มะเร็งกระเพาะอาหาร”

โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นภัยเงียบของสุขภาพที่หลายคนมองข้าม และกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ ก็มีอาการรุนแรงและลุกลามไปตามอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายแล้ว โดยอาการอาหารไม่ย่อยเป็นประจำ อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้

หากคุณมีอาการอาหารไม่ย่อยเป็นประจำ แน่นท้อง ปวดท้องหลังรับประทานอาหาร จุกที่ลิ้นปี่ แสบร้อนบริเวณหน้าอก ร่วมกับ อุจจาระเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียนติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ควรมาปรึกษาพบแพทย์เพราะหากปล่อยไว้อาการอาจรุนแรงขึ้น

โปรแกรมเหมาจ่ายส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหาร

อาหารไม่ย่อย ทำไงดี … วิธีป้องกันรับมือกับอาหารไม่ย่อย

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทาน โดยรับประทานให้ตรงเวลา ไม่รับประทานทีละมากๆ หรือรีบกินจนเกินไป
หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด ไขมันสูง และอาหารย่อยยาก
หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คาเฟอีน น้ำอัดลม
ไม่เครียดหรือวิตกกังวลมากจนเกินไป เพราะจะส่งผลให้ระบบย่อยอาหารทำงานไม่ปกติ
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยา หลีกเลี่ยงการรับใช้กลุ่มยาแก้ปวด หรือยาที่อาจมีผลต่อระบบย่อยอาหารอื่นๆ

ติดตามเรื่องราวดีๆได้ที่ developette.com